เทคนิคการจดบันทึก (Taking Note) ในชั้นเรียน

SeedOfHope | 5:00 AM |

สำหรับการเรียนในระดับอุดมศึกษา การจดบันทึกสิ่งที่ได้รับฟังจากอาจารย์ผู้สอนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โน๊ตที่ดีนั้นจะช่วยในการทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมา และดีที่สุดเอาไว้ใช้ทบทวนในยามสอบ เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดมาจากผู้สอนนั้นบางครั้งมาจากประสบการณ์ และมีบางเนื้อหาที่ไม่ได้เขียนระบุไว้ในตำราทั่วไป การจดบันทึกที่ดีก็จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการเรียนในระดับอุดมศึกษา และได้เกรดที่ดีตามมาด้วย


ทำไมถึงต้องจดบันทึก

นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เหตุผลสำคัญที่ต้องจดบันทึกก็เพราะ การจดบันทึกจะทำให้เราตั้งใจฟังสิ่งที่อาจารย์พูด เพื่อที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นบันทึกสั้นๆ บันทึกย่อนั้นจะช่วยให้จดจำได้ง่ายกว่าข้อความยาวๆ อย่างในตำรา และการจดเนื้อหาสำคัญๆ จะช่วยให้เราจำเนื้อหานั้นได้ง่ายและเป็นระบบ

โดยมากแล้วอาจารย์ผู้สอนจะเน้นส่วนสำคัญของเนื้อหาให้เราทราบ เราอาจจะสังเกตได้จาก สิ่งที่อาจารย์เขียนไว้บนกระดาน สิ่งที่พูดซ้ำหลายๆ ครั้ง และเนื้อหาที่เน้นแล้วเน้นอีก โดยฟังจากโทนเสียงของอาจารย์ หรือความถี่ของคำที่พูดถึง สังเกตความโดดเด่นของคำที่เอ่ยถึง เช่น มีเหตุผล 3 ประการ ดังนี้... มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกัน 2 ความเห็น ได้แก่... สรุปได้ว่า... เป็นต้น และข้อสรุปที่อาจารย์สรุปให้ในตอนท้ายชั่วโมง หรือการเกริ่นก่อนเริ่มต้นชั้นเรียน ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องตั้งใจฟังและบันทึกลงไปให้ครบถ้วน

หลักสำคัญในการจดบันทึก

เพื่อความสำเร็จในการเรียนระดับอุดมศึกษา นักศึกษาทุกคนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงวิธีการจดบันทึกของตนเองให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้อง และเหมาะสมสำหรับตนเองอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เราสำเร็จตามหลักสูตรได้ และไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษก็มีหลักการบันทึกคล้ายๆ กัน

โดยเทคนิคการจดบันทึกที่มีประสิทธิภาพมีหลักสำคัญดังนี้

1. พยายามจดบันทึกให้สั้นที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นประโยค ให้ใช้วลี คำบางคำ สัญลักษณ์ หรือตัวย่อ ที่เป็นสากล หรือสร้างขึ้นมาเองโดยเฉพาะ แต่ระวังว่าต้องจดจำสัญลักษณ์หรือตัวย่อนั้นให้แม่นยำ

2. อย่าจดตามทุกคำพูดของอาจารย์ ให้ตั้งใจฟังและสรุปเอาเฉพาะส่วนที่สำคัญเท่านั้น ให้ความสำคัญกับเนื้อมากกว่าน้ำ และควรจดบันทึกด้วยคำพูดของตัวเอง ยกเว้นที่เป็น กฎหรือสูตร คำจำกัดความ ความจริงเฉพาะอย่าง

3. พยายามจดบันทึกเป็นหัวข้อ เป็นข้อๆ โดยใช้หมายเลข หรือสัญลักษณ์นำหน้าหัวข้อ และการย่อหน้าเข้ามาของข้อความตามลำดับความสำคัญ หรือการแยกหัวข้อย่อย ในแต่ละหัวข้อใหญ่ พยายามเขียนให้สั้นๆ และตรงประเด็น ละิเว้นถ้อยคำบรรยายหรือคำอธิบายยาวๆ ก็จะทำให้อ่านและเข้าใจได้ง่ายบันทึกนั้นได้โดยง่าย

4. อย่ากังวลมากเกินไปกับบางประเด็นที่ขาดหายไป ถ้าจำถ้อยความไม่ได้หมด ให้จดเฉพาะคำสำคัญ (Key Word) และเว้นที่ว่างไว้เติมในภายหลัง พยายามให้มีที่ว่างในหน้าบันทึกด้วย เอาไว้ต่อเติมข้อความเพิ่มในภายหลัง อาจเป็นพื้นที่กั้นหน้าซ้ายขวาของสมุดหรือกระดาษบันทึก ซึ่งบันทึกที่ดีควรประกอบด้วยคำสำคัญ วลี หรือประโยคสั้นๆ เท่านั้น

5. ทบทวนโน๊ตทุกครั้งหลังเลิกเรียน ในขณะที่ข้อมูลยังใหม่สดอยู่ เผื่อว่าตกหล่นสิ่งใดจะได้เพิ่มเติม และขัดเกลาข้อความและสำนวนได้ และหมั่นทบทวนบันทึกของตนบ่อยๆ เพราะเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้จดจำเนื้อหาจำนวนมากได้โดยไม่ลืม

6. ท้ายสุดอย่าลืมใส่วันเดือนปีที่บันทึกและหมายเลขหน้าด้วย เผื่อโน๊ตนั้นเกิดแยกส่วนจะได้กลับมาหากันได้ถูกต้อง เพราะหลายคนชอบใช้กระดาษ A4 บันทึกแทนสมุด ก็สะดวกและง่ายในการเก็บแยกเข้าแฟ้มและเก็บเข้าที่ให้เป็นระเบียบในที่เดียวกัน แต่อย่าใช้กระดาษชิ้นส่วนที่หลากหลายจดบันทึก เพราะอาจกระจัดกระจายและหลุดหายไปได้โดยง่าย

ที่สำคัญให้จดบันทึกด้วยตนเองอย่าหวังพึ่งพาขอยืมโน๊ตเพื่อนมาลอกหรือก็อบปี้แต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่ช่วยให้เราเข้าใจบทเรียน และไม่พัฒนาทักษะที่ควรจะมีสำหรับนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเลย ดังนั้นเพื่อความสำเร็จในการเรียน พวกเราจึงควรพยายามปรับปรุงเทคนิคการจดบันทึกของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาและทำมันออกมาให้ดีที่สุด แล้วความสำเร็จจะไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ

ที่มา poowiang
http://learningpune.com/?p=6250

No comments:

Post a Comment